สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงเป็นแบบอย่างของขัตติยนารีผู้มีพระจริยวัตรอันงดงาม และดำรงมั่นในสุจริตธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณด้วยความจงรักภักดีตลอดมา เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ สิ้นพระชนม์ ณ วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพถวายพระเกียรติสูงสุดตามราชประเพณี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ โดยมีหมายกำหนดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ในวันที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๕ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นประธานที่ปรึกษาการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ทรงพระราชวินิจฉัยให้ใช้รูปแบบพระเมรุของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นต้นแบบ แต่ปรับรูปลักษณ์และรายละเอียดการออกแบบตกแต่งให้สอดคล้องกับพระประวัติและพระจริยวัตรอัธยาศัยของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรมไทย ประธานกรรมการ คณะกรรมการการจัดสร้างพระเมรุ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ออกแบบพระเมรุทรงมณฑป โครงสร้างเป็นเหล็กหุ้มไม้ปิดกระดาษสีประดับผ้าทองย่นตัดทับเป็นลายทองสาบสี ผูกลายดอกไม้ทั้งหลัง การก่อสร้างพระเมรุครั้งนี้ สร้างเป็นพระเมรุทอง ซึ่งตามราชประเพณี พระเมรุสำหรับพระอิสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้า จะเป็นพระเมรุทาสีประดับสีทองเฉพาะลวดลายประดับและเครื่องบน โดยไม่ได้ปิดทองทั้งองค์ หากครั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระเมรุทองประดับลวดลายทองทั้งองค์เป็นพิเศษเสมอด้วยพระเมรุมาศ เพื่อเป็นพระเกียรติยศสูงสุดสำหรับสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๖
ด้วยเหตุที่พระเมรุเป็นของชั่วคราว การตกแต่งพระเมรุจึงเป็นศิลปกรรมแบบซ้อนไม้ มิใช่การแกะสลักไม้จริง และในครั้งนี้ได้ใช้วัสดุผสมทางวิทยาศาสตร์เข้าเสริม เพื่อลดการใช้ไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ควรอนุรักษ์ ลวดลายที่ใช้ประกอบพระเมรุเป็นพรรณพืชและสัตว์นานาชนิด เช่น ดอกกุหลาบ ผีเสื้อ และนก ตามพระอัธยาศัยโปรดธรรมชาติของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ โครงสร้างสีของพระเมรุเน้นการไล่ระดับเฉดสีแสดและสีชมพู เนื่องจากสีชมพูอันเป็นสีประจำวันประสูติ สีแสดหรือสีส้มเป็นสีที่โปรด รอบพระเมรุประดับตกแต่งด้วยอุทยานและสระน้ำขนาดย่อม พร้อมสัตว์หิมพานต์ปูนปั้นประดับเขามอ เป็นการจำลองคติป่าหิมพานต์ซึ่งอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ มีหุ่นเทวดาเชิญฉัตรและตาลปัตรแว่นแก้วประกอบพระอิสริยยศ
พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นงานสำคัญของแผ่นดินที่ช่วยสืบสานและรักษาโบราณราชประเพณี ได้ประมวลสรรพวิชาช่างทุกแขนงมาประกอบไว้ สะท้อนคุณค่าของเอกลักษณ์ไทยซี่งสำแดงความเป็นอารยะให้ชาวโลกได้ประจักษ์ ทั้งยังเป็นเครื่องเชิดชูพระเกียรติยศและพระคุณูปการที่สมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๖ ทรงดำรงและทรงประกอบไว้อย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ทุกประการ แม้กาลเวลาผ่านไปเนิ่นนานถึง ๑๐ ปีแล้ว หากยังคงเป็นที่เล่าขานถึงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมอันปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่ตาและแก่ใจอยู่มิรู้ลืม