พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติเมื่อวันเสาร์ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๔๘ ในสกุล “อภัยวงศ์” เป็นธิดาของพระยาอภัยภูเบศร์ (เลื่อม อภัยวงศ์) มารดาคือคุณเล็ก บุนนาค มีพระนามเดิมว่า เครือแก้ว ทรงรับการศึกษาอบรมในพระบรมมหาราชวังโดยอยู่ในความดูแลของยายคือ ท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา) ผู้อำนวยการละครหลวงฝ่ายในกรมมหรสพ ทรงรับการฝึกฝนดุริยางคศิลป์ไทยในราชสำนักจนได้รับเลือกเป็นต้นเสียง

ในเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๗ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรมเป็นครั้งแรก ณ พระราชนิเวศน์ มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แสดงละครพระราชนิพนธ์เรื่องพระร่วงในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงเป็นนายมั่น ท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (ไล้ สุจริตกุล) แสดงเป็นนางจันทน์ ส่วนนางสาวเครือแก้วแสดงเป็นสาวใช้ ในเดือนมิถุนายนพุทธศักราช ๒๔๖๗ ขณะที่ยังประทับ ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาพระราชทานนามใหม่ให้นางสาวเครือแก้วว่า “สุวัทนา”

วันที่ ๑๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณสุวัทนาขึ้นเป็น “เจ้าจอมสุวัทนาพระสนมเอก” ทรงจดทะเบียนอภิเษกสมรส ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง แล้วคล้องพระกรนำไปนมัสการพระพุทธปฏิมา ณ พระพุทธรัตนสถานโดยลอดซุ้ม กระบี่ของแถวราชองครักษ์ทหารบก ทหารเรือ เสือป่า และพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ จำนวน ๘๔ นาย

Previous slide
Next slide

ตามเสด็จหัวเมืองใต้

ระหว่างวันที่ ๒๑ กันยายน ถึง ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๖๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสิงคโปร์และแหลมมลายู เพื่อ เจริญทางพระราชไมตรีเป็นเวลา ๒๓ วัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าจอมสุวัทนาโดยเสด็จพระราชดำเนินด้วยและได้มีโอกาสร่วมงานอุทยานสโมสร เช่นที่จวนผู้สำเร็จราชการแคว้นเสตรตส์เสตเติลเมนตส์และจวนเลขาธิการใหญ่แห่ง สหรัฐมลายูอีกทัั้งได้ร่วมโต๊ะเสวยในการถวายเลี้ยงพระกระยาหารที่สุลต่านยะโฮร์ และสุลต่านเประจัดถวาย และในคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ พระราชดำเนินไปเยือนวัดจีนเก๊กลกสี่ ตำบลอายะอิตำ เมืองปีนัง ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมสุวัทนาลงนามในหนังสือเยี่ยมหน้าเดียวกับที่ทรงลง พระปรมาภิไธยเยี่ยมด้วย

Previous slide
Next slide

วันที่ ๑๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี ถึงวันที่ ๑๕ เมษายน ซึ่งตรงกับวันเกิดครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ของเจ้าจอมสุวัทนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทาน ณ พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ ในงานนี้พระราชทานหนังสือพระราชนิพนธ์บทเสภาเรื่องพญาราชวังสันกับสามัคคีเสวกแก่ผู้ที่มาร่วมงาน โปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ หอเสวยพระที่นั่ง สมุทรพิมาน แล้วทรงร่วมแสดงละครแบบดึกดำบรรพ์เรื่อง “ท้าวแสนปม”

ในวาระนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ร้อยกรองพระราชทาน พระเจ้าจอมสุวัทนาไว้ ๒ สำนวน เป็นคำกลอนฉบับหนึ่งและคำฉันท์ฉบับหนึ่ง ดังนี้

พระราชนิพนธ์คำกลอน

ขอเดชะพระคุณแห่งตรัยรัตน์
คุ้มสุวัทนาเฉลิมศร
โปรดบันดาลสารพัดสวัสด
พร้อมพระพรทั้งสี่ทวีคูณ
ขออายุยืนไปและไร้โรค
เสริมโศลกโชคดีอย่ามีสูญ
ขอวรรณะเรืองรองผ่องไพบูลย
เหมือนแสงสูรย์ส่องงามยามอุทัย
ขอสุขจงยงอยู่มิรู้วาย
โศกสลายทุกฃาอย่ากรายใกล้
ขอพล พรั่งพร้อมประนอมใน
กายและใจร่าเริงบรรเทิงดี
ยศจงมียิ่งยวดอย่าชวดยศ
ศรีสง่าปรากฎอย่าหมดศร
เกียรติคุณเผยแผ่แพร่เกียรต
เจริญถ้วนมวลทวีเจริญเทอญฯ

พระราชนิพนธ์คำฉันท์

  ๏ถึงวันวิเศษะศุภะมัง-
คะละวาระชาตา
อวยพร ณแม่สุวะทะนา
ปิยะยอดสุนาร

   ๏ด้วยเดชะคุณรตนะไตรย
อุปะการะโฉมศรี
ขอจงเจริญศุภะสุข
บ่ มิเสื่อม ณ วันใด

   ๏ขออายุยง ณ ศตะพรร-
ษะและทุกข์นิราศไกล
อีกปลอด บ่ พบประทุษะภัย
และสราญ ณ กายา

   ๏กิจใดประสงคะจะประดิษ
ฐะก็สิทธิเถิดนา
การใดจำนงก็ บ่ มิช้า
และสำเร็จเถอะสมปอง

   ๏ขอลาภะหลั่งประดุจะธาร
นทิท้นถนัดนอง
ขอยศและเกียรติคุณะผอง
ทวินิจจะเนืองนันท์ฯ

วันที่ ๑๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๖๘ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯสถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเป็น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ด้วยเหตุผลซึ่งปรากฏในคำประกาศสถาปนาดังนี้

ทรงพระราชดำริหว่า เจ้าจอมสุวัทนาได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณโดยความซื่อสัตย์กตเวที มีความจงรักภักดีในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท เปนที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรที่จะได้ทรงยกย่องให้เปนใหญ่ เพื่อผดุงพระราชอิศริยยศแห่งพระกุมารที่จะมีพระประสูติการในเบื้องหน้า อนึ่งเจ้าจอมสุวัทนาก็เปนเชื้อสกุลที่บรรพบุรุษทั้ง ๒ ฝ่ายได้รับราชการมีความดีความชอบในราชการ ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินต่อเนื่องกันมาหลายชั่วคนคือ ข้างฝ่ายบิดาของเจ้าจอมสุวัทนาเปนเชื้อสายของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งได้เคยรับราชการเปนผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองต่างพระเนตรพระกรรณตั้งแต่รัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่หนึ่งมาจนเมื่อเร็วๆ นี้ฝ่ายมารดาก็เปนเชื้อสายสืบสกุลลงมาจากเจ้าพระยาอัครมหาเสนาทางสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์และเจ้าพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ นับว่าเปนผู้มีสกุลสูงทั้งสองสาย จะทรงยกย่องให้ เจ้าจอมสุวัทนามีอิศรยยศสูงในตำแหน่งก็สมควรแล้ว จึงมีพระบรมราช โองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา เจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเปนเจ้า มีพระอิศรยยศเปนพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี จงทรงเจริญพระชนมายุ วรรณสุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติสรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลทุกประการ เทอญฯ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มทรงพระประชวรตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ เป็นต้นมา และพระอาการทรุดลงตามลำดับ ครั้นถึงวันอังคาร ที่ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ เวลา ๑๒ นาฬิกา ๕๕ นาที พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวีประสูติพระราชธิดา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรพระราชธิดาเมื่อวันที่ ๒๕ เพียงระยะสั้นๆ ต่อมาทรงรู้สึกพระองค์น้อยลงจนสวรรคต เมื่อเวลา ๑ นาฬิกา ๔๕ นาที ของวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามพระราชธิดา
ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า
สมเด็จพระภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรรราชเทวีและพระราชธิดาประทับ ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน จนถึงวันที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๘ จึงย้ายไป ประทับที่ตำหนักเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ บุนนาค) ในพระบรมมหาราชวังและเสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังไปประทับที่ตำหนักสวนหงส์ พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐

เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ เกิดการพิพาทกันระหว่างรัฐบาลกับคณะพระองค์เจ้าบวรเดช คณะรัฐบาลเกรงจะถวายอารักขาพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งประทับอยู่ ณ วัง ต่างๆ ไม่ดีพอจึงเชิญพระราชวงศ์ฝ่ายในให้เสด็จเข้าไปประทับในพระบรมหาราชวังเป็นการชั่วคราวจนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตกลงในพระบรมมหาราชวังชั้นใน เจ้านายฝ่ายในจึงต้องเสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังไปเป็นส่วนมาก

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ ไปประทับกับสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสา มาตุจฉาเจ้า (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ทั้งนี้เนื่องจากสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าทรงพระเมตตาห่วงใยพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีเป็นอย่างยิ่ง ในวันประชวรพระครรภ์พระองค์เสด็จไปทอดพระเนตรพระอาการรับสั่งปลอบโยนและประทับอยู่จนประสูติพระราชธิดา

พระนางเจ้าสุวัทนาและพระราชธิดาประทับอยู่ในวังสระปทุมได้ระยะหนึ่ง ก็เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่จังหวัดสงขลา สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าและฝ่ายในรวมทั้งพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และ สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ จึงโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไปประทับที่ จังหวัดสงขลาด้วย

เมื่อเหตุการณ์สงบเจ้านายเสด็จกลับกรุงเทพฯ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีและพระราชธิดาจึงตามเสด็จสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า กลับมาประทับที่วังสระปทุมระยะหนึ่ง แล้วเสด็จกลับเข้าไปประทับที่พระตำหนักในสวนสุนันทาพระราชวังดุสิต

สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ เจริญพระชนมายุขึ้น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีขอพระราชทานพระราชานุญาตสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า เชิญสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ ไปประทับ ณ วังสวนรื่นฤดี ที่ถนนราชสีมาตัดกับถนนสุโขทัยซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีเมื่อคราวอภิเษกสมรส ตำหนักนี้ สร้างตามแบบที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริมาแต่ก่อน ว่าจะทรงสร้างในที่ดินพระราชทานอีกแปลงหนึ่งใกล้บริเวณท่าวาสุกรี

ชมวีดิทัศน์การบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์