พระตำหนักพัชราลัย
ในอดีตเมื่อถึงฤดูร้อน ชาวพระนครนิยมไปพักผ่อนตากอากาศบริเวณชายทะเลเป็นเวลานาน ๆ จนกระทั่งหมดฤดูร้อนแล้วจึงกลับพระนคร สถานที่ที่ขึ้นชื่อมากที่สุดแห่งหนึ่ง คือ ชายทะเลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพราะมีหาดทรายสีขาวละเอียด ลาดลงสู่ทะเลใสสีฟ้าคราม มีภูมิทัศน์งามตาเป็นที่น่าสำราญ แม้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ก็โปรดเสด็จมาประทับ ณ สวนไกลกังวล อำเภอหัวหิน ด้วยทรงพอพระทัยในบรรยากาศอันรื่นรมย์ห่างไกลจากความวิตกกังวลใด ๆ สมชื่อสถานที่
พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการใหญ่น้อยในพระนครต่างเจริญรอยตามพระราชนิยม เมื่อถึงฤดูร้อนก็พากันเดินทางมาพักผ่อนโดยรถไฟซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่สะดวกที่สุด หัวหินจึงเป็นแหล่งรวมของชาวเมืองหลวงให้ได้พบปะชุมนุมกันตลอดช่วงฤดูร้อน กระทั่งถึงฤดูฝนก่อนเดินทางกลับพระนครอย่างกระปรี้กระเปร่า ส่วนหัวหินก็จะเงียบเหงาลงไปนับจากนั้น และกลับมาคึกคักอีกครั้งในปีต่อมาเมื่อฤดูร้อนเวียนมาเยือน
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ ทรงพาสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จโดยรถไฟไปตากอากาศยังชายทะเลหัวหินเป็นประจำทุกปี มีพระประยูรญาติ พระสหาย และข้าหลวงจำนวนหนึ่งตามเสด็จไปด้วย ประทับยาวนานถึง ๒ เดือน กว่าจะกลับพระนคร การเสด็จหัวหินแต่ละครั้ง พระนางเจ้าสุวัทนาฯ จะทรงทำหนังสือนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทุกครั้ง ตามแบบแผนธรรมเนียมเก่า เมื่อเจ้านายจะเสด็จออกจากพระนคร และเมื่อเจ้านายฝ่ายในจะเสด็จออกจากพระราชฐาน ต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน
แม้แต่การเสด็จไปไหนมาไหนใกล้ ๆ ในพระนคร พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ก็ทรงมีลายพระหัตถ์ไปกราบบังคมทูลพระกรุณาเสมอ เช่น ขอพระบรมราชานุญาตไปทอดพระเนตรภาพยนตร์ และไปทอด พระเนตรละครที่โรงละครของพระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ อดีตผู้บัญชาการกรมมหรสพในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นต้น
พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีที่พักไว้สักแห่งสำหรับสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ พระองค์เอง และผู้ตามเสด็จ หนทางเดียวที่ทำได้สะดวกก็คือซื้อที่ดินไว้สักแปลง สมัยนั้นราคาที่ดินถูกมาก จึงทรงตัดสินพระทัยซื้อที่ดินชายทะเลหัวหินพร้อมพระตำหนักและเรือนจากหม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล (อดีตอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนราชินี ที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เคยทรงศึกษา)
กล่าวกันว่าการซื้อที่ดินพร้อมพระตำหนักในครั้งนั้น บรรดาพระประยูรญาติของพระนางเจ้าสุวัทนาฯ หลายท่านได้กราบทูลคัดค้านอยู่มากด้วยเหตุผลนานาประการ เช่น เรื่องทำเลที่ตั้งว่าอยู่ห่างไกล แต่พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ก็ทรงยืนยันที่จะทรงซื้อ จวบถึงบัดนี้ ทุกคนได้ตระหนักแล้วว่าที่ดินที่ทรงตัดสินพระทัยซื้อ ตั้งอยู่ในทำเลดีเลิศ มีภูมิทัศน์ที่งดงามน่าเจริญใจยิ่ง
บนที่ดินนั้นมีเรือนไม้ใต้ถุนสูงทาสีเหลือง มีชื่อมาแต่เดิมว่า “ตำหนักพลับป่า ข” เคยจัดเป็นที่ประทับตากอากาศของเจ้านายชั้นสูงหลายพระองค์ เช่น สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร นอกจากนั้นยังมีเรือนสีเทาอีกหลังหนึ่งไว้สำหรับผู้ตามเสด็จ
พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงทูลขอให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีสันสกฤต ทรงผูกนามพระตำหนักใหม่ที่หัวหินถวาย พระองค์เจ้าธานีฯ จึงทรงขนานนามถวายว่า “พระตำหนักพัชราลัย” ซึ่งแปลว่า “ที่อยู่แห่งเพชร”
ณ พระตำหนักพัชราลัย ผู้รื่นเริงที่สุดเห็นจะเป็นสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทุกวันจะทรงพระดำเนินเล่นตามชายหาด ทรงเล่นทรายกับพระสหายเล็ก ๆ ที่ตามเสด็จตามประสาเด็ก ๆ ยามแดดทอแสงอ่อนลง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ในฉลองพระองค์ชุดว่ายน้ำและพระมาลาคลุมพระเกศาอย่างเด็กฝรั่ง จะเสด็จลงสรงน้ำทะเลกับพระสหายอย่างสนุกสนาน โดยมีพระพี่เลี้ยงคอยเฝ้าระแวดระวังอยู่ไม่ห่าง
ครั้นนิวัตพระนครเป็นการถาวรในพุทธศักราช ๒๕๐๒ แล้ว การเสด็จประทับที่พระตำหนักพัชราลัยก็เป็นไปตามเดิม ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประทับ ๒ เดือนในฤดูร้อน และยังโปรดทรงพระดำเนินที่ชายหาดทุกบ่าย ซึ่งบางครั้งก็ทรงพระดำเนินไปกลับเขาตะเกียบ หรือไปกลับโรงแรมรถไฟ โดยมีข้าราชบริพาร และผู้ที่ทรงคุ้นเคยที่มาตากอากาศหัวหิน และบ้านอยู่ริมทะเลเดินตามเสด็จ
ปัจจุบัน พระตำหนักพัชราลัยอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของมูลนิธิเพชรรัตน – สุวัทนา ซึ่งเตรียมจะเปิดให้เป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ อาทิ พระมหากรุณาธิคุณในพระมหากษัตริย์แห่งราช วงศ์จักรีต่อเมืองหัวหิน นิทรรศการงานพระราชทานเพลิงพระศพและงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ฯลฯ รวมถึงเป็นพื้นที่ในการจัดนิทรรศการหมุนเวียน และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ฯลฯ