สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ เสด็จไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ทรงสืบสานพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกิจการของสามัคคีสมาคม ที่ทรงช่วยเหลือนักเรียนไทยเป็นกรณีเร่งด่วน ดังปรากฏในหนังสือ ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า (ธันวาคม ๒๕๕๐) ความว่า
“…สามัคคีสมาคม คือสมาคมคนไทยในสหราชอาณาจักร ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ เพราะทรงตระหนักว่า “โรคคิดถึงบ้าน” นั้นส่งผลร้ายแรงนักต่อการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตของคนไทยที่เพิ่งไปเมืองนอกใหม่ ๆ สามัคคีสมาคม เป็นศูนย์รวมใจของคนไทยให้ได้รู้สึกอบอุ่น เป็นศูนย์กลางการติดต่อ รับทราบข่าวสารความเป็นไปในสยาม ที่สำคัญที่สุดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงกำหนดนโยบายการดำเนินงานตามแนวทางประชาธิปไตยไว้ว่า
“ให้จัดการเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการให้เปลี่ยนกันเข้ามาบริหารงาน” ส่วนตำแหน่งต่าง ๆ ในสมาคมนั้น “สมาชิกเลือกตั้งโดยตรง มิใช่กำหนดตำแหน่งแต่งตั้งกันเองภายหลัง”
“….ปี ๒๔๘๑ สามัคคีสมาคม จัดการประชุมใหญ่ประจำปีที่โรงเรียนเซนต์จอร์จ ในเมืองฮาร์เพนเดน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ก็ทรงเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมตั้งแต่ปีนั้น ทั้งสองพระองค์ทรงพระเมตตาติดตามและเกื้อกูลการดำเนินงานของสมาคมอย่างใกล้ชิด ใครมีปัญหาเดือดร้อนอะไร ก็เข้ามาขอพึ่งพระบารมีเสมอ ๆ หากทรงช่วยได้ก็ทรงอุปการะช่วยเหลือทุกครั้ง….”
…นายขวัญแก้ว วัชโรทัย (อดีตรองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ) บอกเล่าถึงพระกรุณาธิคุณที่เคยได้รับเมื่อสมัยอยู่ที่ประเทศอังกฤษ “…คนอังกฤษขึ้นชื่อว่าเป็นผู้มีพิธีรีตองมาก การจะไปพบแพทย์ก็ต้องนัดล่วงหน้านาน แต่ตอนนั้นผมเกิดปวดฟันมากอย่างกระทันหัน จะไปหาหมอที่ไหนเขาก็ไม่รับเพราะต้องนัดก่อน เลยต้องไปกราบทูลขอพึ่งพระบารมีของเสด็จพระนางฯ…”
พระนางเจ้าสุวัทนาฯ เมื่อทรงทราบถึงความทุกข์ทรมานทรงพระกรุณาสงสาร ทรงรีบจัดการติดต่อทันตแพทย์ประจำพระองค์ให้ช่วยมารักษาฟันให้นักเรียนไทยในยุโรปผู้นี้เป็นกรณีพิเศษทันที
คุณขวัญแก้วฯ กล่าวถึงพระกรุณาธิคุณครั้งนั้นด้วยความซาบซึ้งว่า “…ถ้าไม่ได้เสด็จพระนางฯ ทรงช่วยไว้ ผมคงแย่เหมือนกัน…”
นับเป็นพระกรุณาธิคุณและพระคุณสมบัติประการสำคัญที่ไม่อาจปฏิเสธได้ของราชนารีทั้งสองพระองค์ แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำพระทัยโอบอ้อมอารี ต่อบุคคลทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ทุกชนชั้นวรรณะของบุคคล อันเป็นที่ประจักษ์ของปวงชนชาวไทยมาจนถึงปัจจุบัน…”