เรื่องเล่าพระผู้ทรงก่อตั้งมูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ ฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา ฯ กับงานด้านการสาธารณสุข ตอนที่ ๑

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุขไว้นานัปการ หนึ่งในพระกรณียกิจของทั้งสองพระองค์ อันเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้มีโอกาสได้มาเยือนจังหวัดปราจีนบุรี สามารถอำนวยประโยชน์มหาศาลแก่ชาวปราจีนบุรีและชาวไทยทั่วประเทศ รวมตลอดถึงพลเมืองของมิตรประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคตะวันออก มาจนถึงปัจจุบัน คือ “โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ด้วยเหตุที่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมูลค่ามหาศาลซึ่งเคยเป็นสมบัติของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ณ จังหวัดปราจีนบุรีแห่งนี้ ได้เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินเพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติ ก็เพราะน้ำพระทัยอันประเสริฐของพระนางเจ้าสุวัทนาฯ

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุขไว้นานัปการ หนึ่งในพระกรณียกิจของทั้งสองพระองค์ อันเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้มีโอกาสได้มาเยือนจังหวัดปราจีนบุรี สามารถอำนวยประโยชน์มหาศาลแก่ชาวปราจีนบุรีและชาวไทยทั่วประเทศ รวมตลอดถึงพลเมืองของมิตรประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคตะวันออก มาจนถึงปัจจุบัน คือ “โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ด้วยเหตุที่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมูลค่ามหาศาลซึ่งเคยเป็นสมบัติของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ณ จังหวัดปราจีนบุรีแห่งนี้ ได้เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินเพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติ ก็เพราะน้ำพระทัยอันประเสริฐของพระนางเจ้าสุวัทนาฯ

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สร้างขึ้นจากความจงรักภักดีของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ใน พ.ศ.๒๔๕๒ ด้วยประสงค์จะใช้รับเสด็จเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในยามที่เสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี แต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตเสียก่อน ภายหลังเมื่อเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ถึงแก่อสัญกรรม ตึกหลังนี้จึงเป็นมรดกตกทอดไปสู่พระอภัยวงศ์วรเศรษฐ (ช่วง อภัยวงศ์)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอภิเษกสมรสกับคุณสุวัทนา อภัยวงศ์ หลานอาของพระอภัยวงศ์วรเศรษฐ (ช่วง อภัยวงศ์) คุณพระฯ จึงขอพระราชทานน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดเป็นของทูลพระขวัญ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานทรัพย์สินส่วนนี้เป็นสิทธิ์ขาดของพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ผู้เป็นหลานปู่ของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)

ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ ก่อนที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ จะเสด็จนิราศประเทศไทยไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษ พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงห่วงใยในสุขภาพของประชาชนชาวปราจีนบุรีเนื่องจากยังไม่มีสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานเพียงพอ และยังไม่มีโรงพยาบาลประจำจังหวัด จึงทรงพระกรุณาโปรดประทานทรัพย์สินส่วนพระองค์อันมหาศาลชิ้นนี้ ได้แก่ ตึกและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในบริเวณที่ดินของเจ้าพระยาอภัยภูเบศรแบบให้เปล่า แก่กระทรวงกลาโหม เพื่อปรับใช้เป็นสถานพยาบาลสำหรับทหารและประชาชน โดยไม่ทรงหวงกันอาณาประโยชน์ใดๆ ไว้เป็นของส่วนพระองค์แม้แต่น้อย ต่อมา กระทรวงกลาโหมได้โอนให้เป็นสมบัติของกระทรวงมหาดไทย เพื่อสร้างเป็นสถานพยาบาลประจำจังหวัดปราจีนบุรี

พระนางเจ้าสุวัทนาฯ จึงประทานพระดำริให้สถานพยาบาลแห่งนี้เป็นอนุสรณ์ถึงพระบรรพบุรุษของพระองค์ และโปรดประทานนามโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า “โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ เสด็จไปทรงเปิดป้ายโรงพยาบาล เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ พร้อมทั้งทรงรับโรงพยาบาล กับทั้งมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ไว้ในพระอุปถัมภ์ ต่อมา เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ยกฐานะขึ้นเป็นโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัดปราจีนบุรี และเป็นโรงพยาบาลนำร่องต้นแบบเรื่องการแพทย์แผนไทย มีการนวดประคบ ฝังเข็ม และการใช้สมุนไพรบำบัดรักษาโรค ตลอดจนแปรรูปสมุนไพรไทยเป็นเวชภัณฑ์ และเครื่องสำอาง เป็นต้น จนกลายเป็นสินค้าขายดีประจำจังหวัด เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง สามารถวางจำหน่ายอย่างแพร่หลายไปทั่วประเทศและในต่างประเทศด้วย

ปัจจุบัน มูลนิธิเพชรรัตน – สุวัทนา ยังคงสานต่อพระปณิธานของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ มอบเงินสมทบทุนมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์ รวมทั้ง มอบเงินสมทบกองทุนพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี แก่วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร และศูนย์แพทย์ศาสตร์ชั้นคลินิกโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นประจำทุกปี เป็นการสืบสานพระกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ให้สามารถเอื้ออำนวยประโยชน์สุขสู่ปวงชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมตามพระกุศลเจตนาสืบไป

ชมวีดิทัศน์การบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์