สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประทับ ณ ประเทศอังกฤษเป็นเวลา นานกว่า ๒ ทศวรรษ ถึงกระนั้นสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ก็ยังโปรดเพลงไทยและนาฏศิลป์ไทย ยิ่งกว่าเพลงหรือศิลปะการแสดงของชาติใดๆ พระองค์ทรงเห็นว่าเพลงไทยและนาฏศิลป์ไทย คือ มรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ควรค่าแก่การทำนุบำรุงและรักษาไว้ให้คงอยู่
ครั้นสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เสด็จกลับมาประทับ ณ ประเทศไทย ก็ทรงพระสำราญยิ่งที่ทรงมีโอกาสได้หาซื้อแผ่นเสียงเพลงไทยที่โปรดได้ง่ายขึ้นกว่าสมัยประทับที่อังกฤษ ทรงสะสมแผ่นเสียงไว้เป็นจำนวนมากทั้งเพลงไทยลูกกรุงและเพลงสากล แต่ละแผ่นจะทรงเขียนกำกับไว้อย่างเป็นระเบียบว่ามีเพลงอะไรบ้าง ใครร้องและเพลงไหนไพเราะถูกพระทัย ท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ ได้บันทึกถึงพระนิยมเกี่ยวกับเพลงไว้ตอนหนึ่งว่า “…สมเด็จฯ โปรดเพลงไทยยิ่งกว่าเพลงภาษาอังกฤษ การเล่นเปียโน สมเด็จฯ ไม่ใช้แผ่นโน้ต จะทรงจำเหมือนนักดนตรีไทยเล่นเครื่องดนตรีไทย”
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ โปรดให้นางจริยา ไชยันต์ ณ อยุธยา ข้าราชบริพารที่ทรงคุ้นเคยมาแต่เก่าก่อน คอยรับสนองพระประสงค์ในเรื่องการจัดหาแผ่นเสียง คุณจริยาฯ จะเป็นผู้ไปติดต่อกับวงดนตรีสุนทราภรณ์ ขออัดเพลงโปรดของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ลงแผ่นเสียงแต่ละเพลงให้ลงซ้ำกันกี่หน มากน้อยแล้วแต่ตามรับสั่ง เพลงที่โปรดส่วนใหญ่เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพลงของวงดนตรีสุนทราภรณ์ หรือผลงานเพลงของท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ซึ่งใช้ถ้อยคำภาษาไทยได้อย่างสละสลวยคล้องจอง ตรงกับพระอัธยาศัยโปรดการใช้ภาษา ไทยที่ถูกต้องอย่างเคร่งครัดของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ นอกจากโปรดสะสมแผ่นเสียงแล้วยังโปรดเพลงไทยเดิมอีกด้วย พระนิยมส่วนนี้คงเกิดจากการที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระชนนีทรงปลูกฝังมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงเคยรับราชการเป็น “ต้นเสียง” ในกรมมหรสพสมัยรัชกาลที่ ๖ พระปรีชาสามารถด้านการขับร้องเพลงไทยเดิมของพระองค์นั้นเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป เพลงไทยที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ โปรดมากเป็นพิเศษเป็นเพลงที่มีคำร้องจากบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จนคล้ายว่าเป็นธรรมชาติไปแล้วว่าถ้าทรงทราบว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดอะไรหรือทรงงานชิ้นใดไว้ พระองค์ก็จะโปรดปรานตามไปด้วยทุกสิ่ง
นอกจากนี้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังโปรด “นาฏศิลป์ไทย” เป็นอย่างยิ่งเวลาเสด็จไปทรงเปิดงานหรือเยี่ยมกิจการตามโรงเรียนต่าง ๆ โรงเรียนเหล่านั้นมักจัดให้นักเรียนออกมาแสดงระบำรำฟ้อนถวายเป็นประจำ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ไม่ทรงเคยดูแคลนว่านาฏศิลป์ไทยเป็นของเชยล้าสมัย หากแต่ทรงเห็นว่า นาฏศิลป์ไทย คือ มรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่พึงหวงแหนและทำนุบำรุง
สถานการณ์ทางวัฒนธรรมของประเทศไทยกระแสความนิยมวัฒนธรรมต่างชาติได้เข้ามามีบทบาทกับคนไทยมากขึ้น เหตุปัจจัยนี้ส่งผลให้ดนตรีและนาฏศิลป์ไทยได้รับความสนใจลดน้อยลง ดนตรีและนาฏศิลป์ไทย จะคงอยู่ได้ก็ด้วยคนไทยทุกคนไม่ละทิ้ง มีความภาคภูมิใจและหวงแหนศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ทำนุบำรุงไว้ไม่ให้ถูกลืมเลือน เพื่อให้คงอยู่กับชาติไทยสืบไป
มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ผู้ทรงภาคภูมิพระทัยและดำรงมั่นในความเป็นไทย ด้วยทรงเห็นถึงความสำคัญของมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทยอันทรงคุณค่าซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นชาติไทยที่มีอารยธรรม มีวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ทั้งยังทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างของความเป็นไทยให้เป็นที่ประจักษ์จนตลอดพระชนมชีพ สมกับที่ทรงเป็นเจ้าฟ้าหญิงผู้สืบสายพระโลหิตเพียงพระองค์เดียวของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า