เรื่องเล่าพระผู้ทรงก่อตั้งมูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ ฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา ฯ กับงานด้านศิลปวัฒนธรรม ตอนที่ ๖ หอมกลิ่นพระสุคนธ์

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จนิราศจากประเทศไทยไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่พระชนมายุเพียง ๑๒ พรรษา เป็นเวลากว่า ๒ ทศวรรษ ที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงเจริญพระชนม์ท่ามกลางวัฒนธรรมของชาวต่างชาติ แต่ด้วยเหตุที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ ทรงเอาพระทัยใส่และทรงมุ่งมั่นอภิบาลรักษาบำรุงเลี้ยงสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้พระธิดาทรงซึมซับขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมไทย ทำให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงภาคภูมิพระทัย และมีพระนิยมในความเป็นไทยอย่างยิ่ง

หนึ่งในพระจริยวัตรที่ข้าราชบริพารได้ชื่นชมอยู่เสมอคือ พระนิยมของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ที่โปรดน้ำอบไทยมากกว่าน้ำอบฝรั่ง เมื่อได้เข้าไปถวายงานภายในห้องพระบรรทมของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ที่วังรื่นฤดี จะมีกลิ่นพระสุคนธ์อย่างไทย ๆ หอมเย็นชื่นใจอยู่เสมอ เพราะทั้งสองพระองค์โปรดการ “ลูบพักตร์ลูบองค์” ด้วยน้ำอบน้ำปรุงอย่างเจ้านายในยุคก่อน

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ พระอาจารย์ในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เล่าถึงพระนิยมด้านนี้ว่า เมื่อครั้งที่ได้เข้ามาวังรื่นฤดีเพื่อถวายพระอักษร ก็เห็นสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงใช้น้ำอบไทยอยู่แล้ว สันนิษฐานว่าโปรดมาก่อนพระชนม์ ๑๐ พรรษา และเมื่อเสด็จไปประเทศอังกฤษ ข้าราชบริพารก็ต้องส่งน้ำอบไทยจากกรุงเทพฯ ไปครั้งละเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง การขนส่งทางเรือมีอุปสรรคจึงไม่มีการส่งสิ่งของไป ครั้นเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวร ก็ทรงใช้น้ำอบไทยอยู่เสมอ

มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา สืบสานพระจริยวัตรของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ด้วยการนำน้ำปรุงพระพันปี กลิ่นหอมเย็นด้วยเครื่องหอมอย่างไทย ตามที่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากทายาทข้าราชบริพารในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้สืบทอดสูตรการทำน้ำปรุงตามพระราชนิยมของสมเด็จพระพันปีหลวง พระอัยยิกาของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ มาเผยแพร่ในงานออกร้านของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย อันเป็นการอนุรักษ์เครื่องหอมไทยที่มีมาแต่โบราณสมัยมิให้เลือนหายไป

ชมวีดิทัศน์การบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์