วัดป่าโมก ที่มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา จะได้เชิญผ้าพระกฐินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทอดถวายพระสงฆ์ซึ่งจำพรรษาถ้วนไตรมาส ในวันเสาร์ ที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ นั้น นอกจากจะเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิด วรวิหาร ที่เก่าแก่สร้างนับแต่สมัยกรุงสุโขทัยแล้ว ยังมีพระพุทธไสยาสน์ และพระวิหารเขียน เป็นปูชนียวัตถุและโบราณสถานที่สำคัญ
พระพุทธไสยาสน์ ภายในพระวิหารวัดป่าโมก มีพุทธลักษณะงดงามยิ่งองค์หนึ่งของประเทศไทย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นก่ออิฐเป็นโกลนใน แล้วลงรักปิดทองทั้งองค์ บรรทมตะแคงขวาแบบสีหไสยา มีความยาวจากพระเกตุมาลาถึงพระบาท ๒๒ เมตร พระเศียรหนุนพระเขนยคลุมด้วยผ้าทิพย์ซึ่งมีลวดลายวิจิตรงดงาม สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงสุโขทัย มีประวัติความเป็นมาน่าอัศจรรย์ เล่าขานกันว่า ได้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัด จึงได้มีการบวงสรวงแล้วชักเชิญขึ้นมาไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระทำยุทธหัตถีจนมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา ได้เสด็จกรีฑาทัพมาชุมนุมพลและถวายสักการบูชาพระพุทธไสยาสน์องค์นี้
ส่วนพระวิหารเขียน อันหมายถึงพระวิหารซึ่งเคยมีภาพเขียนฝาผนังอันงดงาม เป็นมงคลสถานซึ่งเคยเป็นที่ประทับแรมของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา มีคำเล่าขานสืบมาว่า ในการชะลอพระพุทธไสยาสน์ให้พ้นจากกระแสน้ำเซาะตลิ่งครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าท้ายสระได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรม ณ พระวิหารเขียน วัดป่าโมกแห่งนี้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน ๓ องค์ ปางปาลิไลยก์ ปางสมาธิ และปางนาคปรก