พระกรณียกิจ

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี 

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เป็น อเนกปริยาย ประมวลเป็นด้านต่าง ๆ ได้ดังนี้

พระกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญจำแนก โดยสังเขปเป็น ๗ ประการ คือ

๑. พระกรณียกิจงานด้านสังคมสงเคราะห์

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงเริ่มต้นงานด้านสังคมสงเคราะห์ขณะประทับ ณ ประเทศอังกฤษ ทรงติดตามและเกื้อกูลการดำเนินงานของสามัคคีสมาคม (สมาคมนักเรียนไทยและคนไทยในอังกฤษ) ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงก่อตั้งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่ออังกฤษเข้าสู่ภาวะสงครามทั้งสองพระองค์ได้ทรงช่วยเหลือกิจการของสภากาชาดอังกฤษ ครั้นสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรได้ทรงแบ่งเบาพระราชภารกิจของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในด้านสังคมสงเคราะห์ ทั้งสองพระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรและพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ยากไร้ตามหัวเมืองทั้งใกล้ไกลอยู่เสมอ ทรงเป็นต้นแบบและเป็นผู้ริเริ่มงานด้านสังคมสงเคราะห์ตามรูปแบบสากลในประเทศไทย ทรงพระกรุณาพระราชทานพระอนุญาตให้ใช้วังรื่นฤดีเป็นสถานที่จัดงานหารายได้เพื่อการกุศลเป็นแห่งแรก ๆ ในประเทศไทย อีกทั้งทรงพระกรุณารับองค์กรและมูลนิธิต่าง ๆ ที่ดำเนินกิจการด้านสังคมสงเคราะห์ไว้ในพระอุปถัมภ์

 

ดูบทความที่เกี่ยวข้อง

๒. พระกรณียกิจงานด้านการศึกษา

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงสืบสานพระราชกรณียกิจสำคัญของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นั่นคือ งานด้านการศึกษา ซึ่งถือเป็นงานสร้างชาติโดยตรง ทั้งสองพระองค์ทรงใส่พระทัยในการทำนุบำรุงการศึกษาของเยาวชน ทรงพระกรุณาพระราชทานทุนการศึกษาและทุนในการก่อสร้างตึกหรือห้องเรียน เสด็จไปทรงเยี่ยมการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาหรือโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา พระราชทานทุน หรือพระราชทานนามไว้ อีกทั้งทรงรับสถาบันหรือโรงเรียนอีกหลายโรงเรียนไว้ในพระอุปถัมภ์ จนมีผู้กล่าวเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ว่าทรงเป็น “องค์อุปถัมภิกาการศึกษาของชาติ”

 

ดูบทความที่เกี่ยวข้อง

๓. พระกรณียกิจงานด้านการเสริมสร้าง
ความมั่นคงของประเทศ

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจด้านการทหารและความมั่นคงของราชอาณาจักรด้วยพระวิริยอุตสาหะมาตลอดพระชนมชีพ อาทิ เสด็จไปทรงฝึกระเบียบทหาร ฝึกการรับการถวายความเคารพ ทรงฟังบรรยายวิชาทหารที่กรมการรักษาดินแดน ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษในกองพันทหารราบที่ ๒ กรมผสมที่ ๕ ภายหลังแปรสภาพเป็น กรมทหารราบที่ ๑๕ ทรงดำรงตำแหน่ง “นายทหารพิเศษ” ประจำกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศขึ้นตามลำดับจนถึงชั้นพลเอกในทุกเหล่าทัพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงเป็นผู้มี “วินัย” และ “คุณธรรม” ทรงบริบูรณ์ด้วยน้ำพระทัยอย่าง “ทหาร” อย่างมั่นคงเยี่ยงนายทหารที่ได้รับการฝึกอบรมวิชาการทหารมาโดยตรง

ดูบทความที่เกี่ยวข้อง

๔. พระกรณียกิจงานด้านสาธารณสุข

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุขไว้นานัปการ ทรงพระกรุณาโปรดประทานเงินและทรัพย์สินส่วนพระองค์เพื่อสร้างเป็นสถาน พยาบาล ทรงก่อตั้งกองทุนและมูลนิธิในโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนกิจการในการช่วยเหลือประชาชนด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาล การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค นอกจากนี้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังทรงสมทบทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ตลอดจนทุนการศึกษาของคณะแพทย์ ทรงพระกรุณารับเป็นองค์อุปถัมภิกามูลนิธิ และทรงอุปการะกิจการของโรงพยาบาลเหล่านั้นไว้ในพระอุปถัมภ์อีกด้วย

ดูบทความที่เกี่ยวข้อง

๕. พระกรณียกิจด้านพระพุทธศาสนา

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงเป็นแบบอย่างอันดีของพุทธศาสนิกชน ทั้งสองพระองค์ทรงปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนแห่งพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด ทรงปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ตามธรรมเนียมในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ทรงบำเพ็ญพระกุศลและพระกรณียกิจเนื่องในพระพุทธศาสนาเสมอมามิได้ขาด โปรดเสด็จไปทรงทอดกฐินเป็นประจำทุกปี อีกทั้งทรงรับองค์กรและมูลนิธิต่าง ๆ อันมีวัตถุประสงค์ทางพระพุทธศาสนาไว้ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงตั้งพระทัยที่จะทํานุบํารุงพระพุทธศาสนา ทั้งในด้านวัตถุและการศึกษา เพื่อดำรงไว้ให้เจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรสืบไป

ดูบทความที่เกี่ยวข้อง

๖. พระกรณียกิจงานด้านศิลปวัฒนธรรม

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ แม้จะประทับในต่างประเทศเป็นเวลานาน แต่พระองค์กลับทรงภาคภูมิพระทัยในความเป็นไทยและทรงมีพระนิยมในความเป็นไทยอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการโปรดฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทย ทรงเคร่งครัดในการใช้ภาษาไทย โปรดดนตรี นาฏศิลป์ งานศิลปะและงานหัตถกรรมไทย สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงสนับสนุนและส่งเสริมทุกวิถีทาง เพื่อรักษาไว้ซึ่งศิลปวัตนธรรมและขนบ ธรรมเนียมประเพณีอันดีงามอันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษสู่ชนรุ่นหลัง อันเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมีความสำคัญและมีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ไว้ให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทยสืบไป

ดูบทความที่เกี่ยวข้อง

๗. พระกรณียกิจงานด้านสถาปัตยกรรม

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงเป็นผู้นำในการอนุรักษ์มรดกทางด้านสถาปัตยกรรมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อันได้แก่ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม, พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี และพระราชวังพญาไท สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงพระราชทานทุนประเดิม และมีพระดำริในการจัดหาทุนเพื่อซ่อมแซมพระราชวังสนามจันทร์ ทรงรับเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการในการบูรณะพระราชวังฯ จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงสนับสนุนการบูรณะพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน โดยเสด็จทอดพระเนตรการแสดงละครอันเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งเสวกามาตย์ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เพื่อหารายได้สมทบทุนบูรณะพระราชนิเวศน์ดังกล่าว ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินสมทบทุนในการบูรณะและรับมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวันไว้ในพระอุปถัมภ์ นอกจากนี้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังทรงพระราชทานทุนก่อตั้งและรับมูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไทไว้ในพระอุปถัมภ์ เพื่อสนับสนุนการบูรณะพระราชวังพญาไท ให้สง่างามสมกับที่เคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ดูบทความที่เกี่ยวข้อง

ชมวีดิทัศน์การบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์